วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สามก๊กภาคภาษาไทย

มาเป็นส่วนหนึ่งของวิกิพีเดียไทย ด้วยการร่วมแก้ไขและเพิ่มเติม
สามก๊ก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปที่: ป้ายบอกทาง, ค้นหา

บทความนี้ต้องการแหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม เพื่อให้บทความน่าเชื่อถือและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นคุณสามารถช่วยพัฒนาวิกิพีเดีย โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงที่เหมาะสม - การอ้างอิงแหล่งที่มา วิธีการเขียน บทความคัดสรร และ นโยบายวิกิพีเดีย
บทความนี้เกี่ยวกับนิยายสามก๊ก (สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)) สำหรับความหมายอื่น ดูที่ สามก๊ก (แก้ความกำกวม)
ซำก๊กเอี้ยนหงี (บ้างก็เขียนว่า "สามก๊กเอี้ยนหงี") (ฮกเกี้ยน) หรือ ซานกว๋อเหยี่ยนยี่ (จีนกลาง)สามก๊กฉบับบทละคร โดย ล่อกวนตง (หลอกว้านจง)
ภาพประกอบในหนังสือซำก๊กเอี้ยนหงี
ผู้แต่ง
ล่อกวนตง (ฮกเกี้ยน) หรือ หลอกว้านจง (จีนกลาง)
ชื่อต้นฉบับ
จีนตัวเต็ม: 三國演義จีนตัวย่อ: 三国演义
ประเทศ
จีน
ภาษา
จีน
ประเภทหนังสือ
นิยายอิงประวัติศาสตร์
สำนักพิมพ์
วันที่พิมพ์
คริสต์ศตวรรษที่ 14
ISBN
ISBN 978-7119005904
OCLC
49389330
สามก๊ก (อังกฤษ: Romance of the Three Kingdoms; จีนตัวเต็ม: 三國演義; จีนตัวย่อ: 三国演义; พินอิน: sān guó yǎn yì) เป็นวรรณกรรมจีนที่แต่งขึ้นประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในสมัยราชวงศ์หยวน โดยนักประพันธ์ชื่อ หลอกว้านจง (อังกฤษ: Luo Guanzhong; จีน: 羅貫中) กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) โดยเริ่มปูที่มาที่ไปตั้งแต่ยุคโจรโพกผ้าเหลือง (ค.ศ.183) เนื้อเรื่องเน้นการชิงอำนาจในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ของก๊กต่างๆ อันประกอบด้วยวุยก๊ก (เว่ย 魏) จ๊กก๊ก (ซู่ 蜀) และง่อก๊ก (หวู 吳) จนไปถึงการสถาปนาราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยนหลานชายของสุมาอี้ (บุตรชายของสุมาเจียว) กินระยะเวลารวมประมาณ 60 ปี สามก๊กเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับไซอิ๋ว ซ้องกั๋ง และความฝันในหอแดง บางคนบอกว่าสามก๊กเป็น บทเรียนตำราพิชัยสงครามภาคปฏิบัติ วรรณกรรมชิ้นนี้ยังได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นสุดยอดวรรณกรรมชิ้นหนึ่งของโลกด้วย
เนื้อหา[ซ่อน]
1 ประวัติ
2 โครงเรื่องสามก๊กคร่าวๆ (ฉบับหลอกว้านจง)
2.1 จุดเริ่มต้นของยุคเข็ญ
2.2 เหล่าขุนศึกตั้งตนเป็นใหญ่
2.3 กำเนิดยุคสามก๊ก
2.4 เหตุการณ์ในระยะหลังและสิ้นยุคสามก๊ก
3 ตัวละครหลัก
4 ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์
5 ความนิยม
6 การแปลเป็นภาษาไทย
7 ดูเพิ่ม
8 แหล่งข้อมูลอื่น
//

[แก้] ประวัติ
สามก๊กฉบับแรกที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรคือ จดหมายเหตุสามก๊ก (三國志 หรือ ซานกว๋อจื้อ) ซึ่งเป็นงานเขียนในลักษณะพงศาวดาร ผู้เขียนคือเฉินโซ่ว ข้าราชการอาลักษณ์คนหนึ่งของจ๊กก๊กที่ถูกกวาดต้อนมาวุยก๊กหลังจากพ่ายแพ้ โดยเขียนขึ้นตามบัญชาของจิ้นหวู่ตี้เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ต่อมาในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1330 - ค.ศ. 1400 หลอกว้านจง ได้นำซานกว๋อจื้อมาแต่งใหม่ในรูปแบบนิยายกึ่งประวัติศาสตร์ โดยเนื้อเรื่องนำมาจากซานกว๋อจื้อบ้างและแต่งเพิ่มเองบ้าง ซึ่งเมื่อเทียบกับซานกว๋อจื้อนั้น พบว่ามาจากซานกว๋อจื้อ ร้อยละ 70 และแต่งเอง ร้อยละ 30 โดยประมาณ

[
[แก้] จุดเริ่มต้นของยุคเข็ญ
ค.ศ. 168 พระเจ้าเลนเต้ ได้ขึ้นครองราชย์ในแผ่นดินจีน
ค.ศ. 184 ในรัชสมัยของพระเจ้าเลนเต้ (漢靈帝) ทรงครองราชย์อย่างผิดวิธี ทำให้ราชการแผ่นดินรวนเร ราษฎรเดือดร้อนหิวโหยทุกหย่อมหญ้า ต่อมา ราษฎรทนไม่ไหว จึงรวมตัวกันเกิดเป็นกบฏโพกผ้าเหลือง มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แม้แต่กองทหารก็ต้านทานไม่ได้ จึงมีประกาศขอความช่วยเหลือไปยังทั่วทุกเมือง
ที่เมืองตุ้นก้วนในปีนั้น เล่าปี่ (劉備), กวนอู (關羽) และเตียวหุย (張飛) ได้มาพบกัน และพบว่าอุดมการณ์แทบทุกอย่างตรงกัน ทั้งสามจึงสาบานเป็นพี่น้องกันในสวนท้อแห่งหนึ่ง โดย เล่าปี่เป็นพี่ใหญ่ กวนอูเป็นคนรอง และเตียวหุยเป็นน้องเล็ก
ทั้งสามถึงแม้นิสัยต่างกัน แต่ก็สมัครสมานสามัคคีกันดี ทั้งสามรวบรวมไพร่พลที่รักชาติได้ราว 500 คนออกปราบโจร โดยเล่าปี่ถนัดการใช้ดาบสองมือ กวนอูถนัดการควงง้าว 82 ชั่ง (ประมาณ 18.04 กิโลกรัม) ปลิดชีพศัตรู และเตียวหุย ถนัดการใช้ทวนปลายงูเลื้อย ทัพของเล่าปี่ รวมรบกับทัพอื่นๆ จนโจรพ่ายแพ้ไป
ค.ศ. 185 เล่าปี่ได้รับรางวัลเป็นตำแหน่งนายอำเภออันห้อกวน แต่ไม่นานก็ต้องย้ายออก เพราะเตียวหุย น้องผู้วู่วามไปเฆี่ยนผู้ตรวจราชการแผ่นดิน เพราะไม่พอใจที่ผู้ตรวจราชการแผ่นดินเรียกสินบนจากเล่าปี่
ค.ศ. 189 พระเจ้าเลนเต้เสด็จสวรรคต และทรงมีพระโอรสสองพระองค์ คือ หองจูเปียน พระโอรสองค์โต วัย 13 พรรษา และหองจูเหียบ พระโอรสองค์เล็ก วัย 8 พรรษา ในวังหลวงเกิดการแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการให้หองจูเปียนขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้แก่ พระนางโฮฮองเฮา พระมเหสีในพระเจ้าเลนเต้ และแม่ทัพโฮจิ๋น พระเชษฐาของโฮฮองเฮา และอีกฝ่ายที่ต้องการให้หองจูเหียบเป็นกษัตริย์ ได้แก่ พระพันปีตังไทเฮา ผู้ที่เกลียดโฮฮองเฮา เพราะโฮฮองเฮา ก็เคยวางยาพิษสังหารพระสนมออง พระสนมของพระเจ้าเลนเต้ และพระมารดาของหองจูเปียน และเหล่าขันทีชั่ว 10 คน ที่จะได้ประโยชน์หากหองจูเหียบเป็นกษัตริย์
แม่ทัพโฮจิ๋นยกหองจูเปียนขึ้นเป็นกษัตริย์ และเริ่มคิดกำจัดเหล่าขันทีทั้ง 10 คนทิ้ง แต่ขันที่รู้ตัวก่อน จึงพยายามหาทางเอาตัวรอด แต่ไม่เป็นผล โฮจิ๋นถึงกับเรียกทัพจากหัวเมืองรอบนอกเข้ามากำจัดเหล่าขันที สุดท้าย พวกขันทีจึงลวงโฮจิ๋นไปสังหาร และสังหารได้สำเร็จ
โจโฉในวัย 34 ปี ขณะนั้นเป็นนายทหารระดับกลางรับใช้นายพลโฮจิ๋น เมื่อทราบเรื่อง ก็สั่งทหารในบัญชา เผาประตูวัง บุกเข้าไปสังหารขันทีจนหมด ในขณะที่ฮ่องเต้หองจูเปียน และเจ้าชายหองจูเหียบ ถูกขันทีอุ้มตัวไว้เพื่อคุ้มครองตัว (ทหารจะได้ไม่ยิงตน เพราะอาจพลาดไปถูกฮ่องเต้หรือเจ้าชาย) แต่ผลสุดท้าย ขันทีคนนั้นวิ่งไปถึงมุมอับ จึงชิงโดดน้ำตายเพื่อหนีความผิด ส่วนฮ่องเต้และเจ้าชายได้รับการคุ้มครองจากทหารของโจโฉออกไปถึงนอกวังหลวงโดยปลอดภัย
แต่ว่า ในขณะนั้น ทัพของแม่ทัพตั๋งโต๊ะ (董卓) ได้เดินทางมาถึงพอดี จึงอัญเชิญฮ่องเต้และพระอนุชาเสด็จกลับตำหนักราชวงศ์พร้อมตน แล้วให้ทหารของโจโฉกลับไปทำงานต่อ และอ้างว่าตนเป็นผู้คุ้มครองฮ่องเต้และพระอนุชาให้ปลอดภัย (แต่คนที่คุ้มครองจริงๆ คือทหารของโจโฉ) แล้วทูลขอความดีความชอบจากโฮไทเฮา จนได้เข้ามาบริหารราชการเมืองหลวง
ตั๋งโต๊ะพยายามแสวงหาอำนาจอย่างมิรู้อิ่ม ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อได้พบกับลิโป้ (呂布) ขุนศึกผู้เก่งกาจเรื่องการใช้ทวนมากที่สุดในแผ่นดิน และได้ชวนลิโป้มาร่วมงานด้วยแล้ว ทำให้ไม่มีใครในสภากล้าขัดใจตั๋งโต๊ะเพราะเกรงจะถูกลิโป้สังหาร ตั๋งโต๊ะกำเริบถึงขั้นเปลี่ยนตัว ปลดฮ่องเต้หองจูเปียน แล้วแต่งตั้งเจ้าชายหองจูเหียบขึ้นเป็น พระเจ้าเหี้ยนเต้ ใน ค.ศ. 189

[แก้] เหล่าขุนศึกตั้งตนเป็นใหญ่
โจโฉ มีแผนจะกำจัด ตั๋งโต๊ะ แต่แผนถูกลิยู ที่ปรึกษาผู้ชาญฉลาดและลูกเขยตั๋งโต๊ะล่วงรู้เข้า โจโฉจึงรีบออกจากเมืองไปได้ทันอย่างหวุดหวิด และไปที่เมืองตันลิว เมืองเกิดของตน และเริ่มก่อกองทัพปฏิวัติเพื่อล้มล้างตั๋งโต๊ะ มีชาวบ้าน และทัพจากเมืองต่างๆ รวมแล้ว 18 เมืองมาร่วมและฝึกฝนกลยุทธวิธีต่างๆ โดยมีโจโฉและอ้วนเสี้ยวเป็นแกนนำ และสามพี่น้องแห่งสวนท้อ ก็มาร่วมรบ ในฐานะของทหารเมืองปักเพ้ง ซึ่งมีกองซุนจ้านนำทัพ
ค.ศ. 190 กองทัพ 18 หัวเมืองพร้อมปฏิบัติการ แต่ด้วยความเป็นคนที่เห็นแก่ตัว โลเลไม่เข้มแข็ง หลงคำประจบสอพลอ ละโมบโลภมากของ อ้วนสุด (袁術) เจ้าเมืองลำหยง ผู้ดูแลเสบียงในทัพสิบแปดหัวเมือง อิจฉาตาร้อนไม่อยากให้แม่ทัพคนอื่นๆ ชนะได้หน้า จึงแกล้งไม่ส่งเสบียงให้ หลายทัพที่ไปตีด่านสำคัญด่านต่างๆ ของตั๋งโต๊ะจึงแพ้กลับมา หนำซ้ำแม่ทัพที่หิวโหยก็ถูกทหารฝ่ายตั๋งโต๊ะปลิดชีพไปทีละคน สถานการณ์ทัพจึงย่ำแย่
ต่อมา กวนอู แม้จะสามารถควบม้าไปสังหารขุนศึกมือดีฝ่ายตั๋งโต๊ะมาได้ และสามพี่น้องแห่งสวนท้อสามารถเล่นงานลิโป้ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายตั๋งโต๊ะ จนลิโป้ต้องถอยหนี เป็นข่าวใหญ่ลือลั่นไปทั่วแดน ทำให้ลิยูเกรงว่าจะตั้งรับศัตรูไม่สะดวก จึงเสนอให้ตั๋งโต๊ะย้ายเมืองหลวงจากลกเอี๋ยงไปเตียงฮัน ตั๋งโต๊ะจึงสั่งเผาเมืองหลวงลกเอี๋ยงเพื่อไล่คนออกจากลกเอี๋ยง แล้วไปฆ่าเศรษฐีในลกเอี๋ยง และยึดเอาทรัพย์เศรษฐีมาสร้างเตียงฮัน นับเป็นการการทำที่เหี้ยมโหดมาก
เมื่อทัพใหญ่รู้ว่าตั๋งโต๊ะเผาเมือง โจโฉสั่งให้ทหารรีบติดตามไป แต่ อ้วนเสี้ยว พี่ของอ้วนสุด ซึ่งนิสัยของพี่น้องคู่นี้ไม่ต่างกัน ก็หาข้ออ้างว่าตอนนี้ทหารเพลียมาก ให้ทัพพักผ่อนก่อน แล้วค่อยไป โจโฉเสียน้ำใจมาก จึงขอแยกกองทัพออกมาติดตามตั๋งโต๊ะไป แต่ก็ถูกลิยูวางกับดักเล่นงานจนยับเยิน แม้ตัวโจโฉก็บาดเจ็บ
ในขณะเดียวกัน ซุนเกี๋ยน (孫堅) ก็ได้พบกับตราหยกแผ่นดิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ จึงคิดเก็บไว้เองและตั้งตัวเป็นกษัตริย์ จึงไปอ้างว่าตนป่วย ขอยกทัพกลับ แต่ความล่วงรู้ไปถึงอ้วนเสี้ยว อ้วนเสี้ยวอิจฉา เมื่อซุนเกี๋ยนออกไปแล้วก็ส่งสารไปเกงจิ๋ว ให้เจ้าเมืองชื่อเล่าเปียว รบชิงตราหยกแผ่นดินคืนมา
ทัพที่เหลือจึงเสียความมั่นใจ เห็นอ้วนเสี้ยวมีทีท่าไม่เอาไหน แถมจะแย่งชิงตราหยกแผ่นดินกับซุนเกี๋ยน แถมผู้นำดีๆ อย่างโจโฉก็ไม่อยู่แล้ว จึงกระจายตังกันออกไปหมด ปิดฉากกองทัพปฏิวัติ ณ บัดนั้น
อ้วนเสี้ยว เมื่อบริหารทัพล้มเหลว ก็คิดยึดเมืองกิจิ๋ว ซึ่งอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการฟื้นฟูกำลังทหารในบัญชา จึงไปหลอกเจ้าเมืองว่าสามพี่น้องแห่งสวนท้อจะมารบชิงกิจิ๋ว จนเจ้าเมืองหลงเชื่อขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยว อ้วนเสี้ยวจึงเข้าไปยึดเมืองกิจิ๋วได้ แต่ด้วยนิสัยของอ้วนเสี้ยว ทำให้มีทหารรับไม่ได้ ไปสวามิภักดิ์กับคนอื่นอยู่เนืองๆ และหนึ่งในนั้นคือ จูล่ง ซึ่งหนีมาสวามิภักดิ์กับกองซุนจ้าน ซึ่งต่อไปจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
ต่อมา อ้วนเสี้ยวเปิดศึกกับกองซุนจ้าน กองทัพของทั้งคู่แข็งแกร่งมาก จนการรบยืดเยื้อ จนลิยูได้ข่าวการรบ ก็เสนอให้ตั๋งโต๊ะสั่งระงับการรบ เพราะถ้ารบจนฝ่ายใดชนะ ฝ่ายนั้นจะฮึกเหิม และทั้งสองฝ่ายยังมีความคิดที่จะกำจัดตั๋งโต๊ะอยู่บ้าง หากทัพใดชนะ แล้วฮึกเหิมมารบกับทัพตั๋งโต๊ะอีก ตั๋งโต๊ะจะลำบาก ตั๋งโต๊ะจึงใช้อำนาจผู้สำเร็จราชการแทนองค์ฮ่องเต้ส่งสาส์นในนามฮ่องเต้ ให้อ้วนเสี้ยวและกองซุนจ้านเลิกรบกัน อ้วนเสี้ยวและกองซุนจ้านเห็นตราประทับสัญลักษณ์ประจำองค์ฮ่องเต้ จึงเชื่อฟัง เลิกรบกัน
ด้านซุนเกี๋ยน ซึ่งกำลังเป็นใหญ่ในแถบเมืองกังตั๋ง คิดมาล้างแค้นเล่าเปียว ที่เคยมารบชิงตราหยกแผ่นดินเมื่อครั้งที่ตนแยกตัวมาจากทัพ 18 หัวเมือง เล่าเปียวจนตรอก จึงต้องคิดอุบายการศึก โดยใช้ซอกเขาเป็นจุดปฏิบัติการ หมายถ่วงเวลาและตัดกำลังทัพซุนเกี๋ยน แต่ไม่น่าเชื่อว่า ชะตาซุนเกี๋ยนคงถึงฆาต อุบายนี้ ได้สังหารซุนเกี๋ยนลงได้ใน ค.ศ. 191 ขณะอายุ 36 ปี ทำให้ศึกจบลง และ ซุนเซ็ก บุตรชายซุนเกี๋ยนในวัย 16 ปี ได้ครองแดนกังตั๋งต่อจากซุนเกี๋ยน
เมื่อซุนเกี๋ยน หนึ่งในแม่ทัพ 18 หัวเหมืองที่เคยหมายล้มตั๋งโต๊ะตาย ตั๋งโต๊ะจึงดีใจ กำเริบเสิบสานถึงขนาดสร้างเมืองใหม่ “เม่ยอู่” ใกล้เมืองเตียงฮัน สร้างสถานที่ และใช้ชีวิตดุจกษัตริย์ และเชิญคนแซ่ตั๋งทั้งประเทศมาอยู่ในเม่ยอู่ จนขุนนางชื่ออ้องอุ้น (王允) ทนไม่ไหว จึงคิดใช้แผน “สาวงามล่มเมือง” โดยใช้ เตียวเสี้ยน (貂蟬) บุตรสาวบุญธรรมของตนเป็นเครื่องมือ
เมื่อเตียวเสี้ยนทราบแผน ก็ตอบตกลง และเริ่มแผนการ โดยตอนแรกอ้องอุ้นบอกยกเตียวเสี้ยนให้ลิโป้ (โดยไม่ให้ตั๋งโต๊ะรู้) แต่ขอหาฤกษ์ก่อน แล้ววันต่อมา ก็บอกจะยกเตียวเสี้ยนให้ตั๋งโต๊ะ (โดยไม่ให้ลิโป้รู้เช่นกัน) เพื่อให้ทั้งสองหมางใจกัน และเตียวเสี้ยนผู้งดงามก็ใช้มารยายุแยงให้ทั้งคู่แตกคอกัน จนในที่สุด ลิโป้และตั๋งโต๊ะได้ตัดขาดความสัมพันธ์กัน จนเมื่อความแตกแยกมาถึงที่สุด ค.ศ. 192 วันที่ 22 พฤษภาคม ลิโป้ ได้สังหารตั๋งโต๊ะสำเร็จ
เมื่อตั๋งโต๊ะเสียชีวิต เหล่าขุนนางบริวารตั๋งโต๊ะก็ถูกจัดการประหารสิ้น มีเพียงสี่คนที่รอดไปได้ คือ ลิฉุย กุยกี เตียวเจ และหวนเตียว ซึ่งทั้งสี่ได้หวนย้อนกลับมายึดเมืองเตียงฮัน และสังหารอ้องอุ้น และขึ้นครองอำนาจ และลิโป้ ก็ต้องร่อนเร่ออกไปจากเตียงฮัน เหล่าลูกน้องตั๋งโต๊ะได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์ฮ่องเต้ และครองเมืองในนิสัยที่ไม่ต่างจากตั๋งโต๊ะ
เมื่อคนที่ครองเมืองทำให้ประชาเดือดร้อน โจรโพกผ้าเหลืองก็กลับมาอาละวาดอีก โจโฉ ซึ่งตอนนี้มีทัพมโหฬารอยู่ในมือ เหล่าลูกน้องตั๋งโต๊ะ ก็ใช้อำนาจผู้สำเร็จราชการแทนฮ่องเต้สั่งให้โจโฉปราบโจรโพกผ้าเหลือง ครั้งนี้โจโฉปราบสำเร็จ และได้รับความดีความชอบมากมาย
โจโฉ เมื่อเป็นใหญ่ ก็คิดรับครอบครัวมาอยู่สบายๆ กับตน แต่ระหว่างทาง เตียวคี ลูกน้องของโตเกี๋ยม เจ้าเมืองชีจิ๋ว ทำนอกเหนือคำสั่งลักลอบออกไปปล้นขบวนครอบครัวโจโฉ และฆ่าครอบครัวโจโฉหมกป่า แล้วเตียวคีก็หนีเข้าป่าไปใน ค.ศ. 193
โจโฉเมื่อรู้ก็โกรธมาก คิดยกทัพไปถล่มเมืองชีจิ๋ว แต่เล่าปี่ก็สงสาร รู้ว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับเตียวคีเลย ในค.ศ. 194 เล่าปี่จึงเดินทางไปชีจิ๋ว เพื่อไกล่เกลี่ยกับโจโฉ โตเกี๋ยมเกิดพึงพอใจในตัวเล่าปี่ จึงคิดยกชีจิ๋วให้เล่าปี่ แต่เล่าปี่ปฏิเสธ ขณะเดียวกัน ลิโป้ ซึ่งยังเร่ร่อนอยู่ก็ได้ยกทัพตีกุนจิ๋ว ซึ่งเป็นเมืองของโจโฉ โจโฉจึงต้องยกทัพกลับไปป้องกันเมือง แต่โจโฉก็ได้ทราบเรื่องว่าเล่าปี่คิดปกป้องชีจิ๋ว จึงเริ่มมีความคิดหมางใจกับเล่าปี่ด้วย
ไม่กี่เดือนต่อมา โตเกี๋ยมป่วยหนัก และเรียกเล่าปี่มาพบ และขอร้องให้ครองชีจิ๋วต่อจากตน แล้วสิ้นใจตายลงทันที เล่าปี่ซึ่งปฏิเสธไม่ทันก็ต้องรับตำแหน่งเจ้าเมืองชีจิ๋ว ซึ่งทำให้โจโฉโกรธจัดตัดไมตรีกับเล่าปี่ลง
ค.ศ. 195 ลิโป้แพ้โจโฉ จึงเดินทางมาขอความช่วยเหลือกับเล่าปี่ เล่าปี่จึงได้ส่งลิโป้ไปดูแลเมืองเสียวพ่ายไปก่อน
ค.ศ. 196 มีข่าวลือว่า กลุ่มลูกน้องของตั๋งโต๊ะ คิดปลงพระชนม์ พระเจ้าเหี้ยนเต้ แล้วเป็นกษัตริย์เสียเอง เหล่าขุ่นนางจึงรีบทูลเชิญพระเจ้าเหี้ยนเต้เสด็จลี้ภัยออกจากเตียงฮันเป็นการด่วน และส่งสาส์นไปหาโจโฉ ให้รีบมาช่วยค้ำจุนฮ่องเต้
เมื่อฮ่องเต้มีภัย โจโฉหยุดการรบทุกอย่าง ยกทัพมาตีกลุ่มลูกน้องตั๋งโต๊ะจนแพ้ไป แต่ก็ทำให้เตียงฮันเสียหาย และลกเอี๋ยงเมืองหลวงเก่าก็โดนตั๋งโต๊ะเผาราบคาบ โจโฉจึงทูลฮ่องเต้ให้ตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่เมืองฮูโต๋ ทัพโจโฉเดินทางคุ้มกันฮ่องเต้มาถึงฮูโต๋ และโจโฉก็ตั้งตนเป็นมหาอุปราช
หลังจากนั้น โจโฉก็ได้วางแผนพยายามให้ลิโป้และเล่าปี่แตกคอกันหลายแผน แต่ไม่สำเร็จ จนวันหนึ่ง โจโฉได้วางแผนส่งสาส์นในนามกษัตริย์ให้เล่าปี่ไปตีลำหยงของอ้วนสุด เล่าปี่จึงจำต้องยกทัพ โดยเตียวหุยอยู่เฝ้าชีจิ๋ว
แต่นิสัยวู่วามก็ทำให้เตียวหุยเผลอไปทำร้ายนายทหารนายหนึ่ง ทำให้นายทหารน้อยใจหนีไปเข้าพวกลิโป้ พาลิโป้มาบุกยึดชีจิ๋วจนสำเร็จในคืนนั้น แต่ลิโป้ก็ได้ยกเมืองเสียวพ่ายของตนให้เล่าปี่แทน
ปลายค.ศ. 196 ซุนเซ็กได้นำตราหยกแผ่นดินของบิดาไปจำนำทหาร 3,000 นายกับอ้วนสุด และได้เดินทางไปหาเพื่อนสนิทที่เก่งสงครามชื่อ จิวยี่ และด้วยคำแนะนำของจิวยี่ ทำให้ทัพซุนเซ็กสามารถขยายอาณาเขตได้กว้างขวางและรวดเร็ว แต่เมื่อคิดจะไถ่ตราหยกแผ่นดินคืน อ้วนสุดกลับไม่ยอมให้ไถ่คืน
ทางด้านเล่าปี่หลังเสียชีจิ๋วก็ยังไม่คิดจะไปยึดชีจิ๋วคืน สองเมืองอยู่กันอย่างสงบได้สักพัก เตียวหุยก็ส่งทหารไปขโมยม้าของลิโป้มา ทำให้ลิโป้ซึ่งมีนิสัยไม่ซื่อคิดแค้นถึงขั้นทำสงครามแตกหักกับเล่าปี่ เล่าปี่จึงพาน้องทั้งสองออกจากเสียวพ่ายไปพึ่งโจโฉที่เมืองฮูโต๋
โจโฉแม้ไม่อยากรับ แต่ด้วยราษฎรกำลังมองว่าโจโฉเป็นคนดีที่ช่วยฮ่องเต้ หากไม่รับ ภาพลักษณ์จะเสื่อม จึงต้องรับสามพี่น้องเข้าเมือง
ค.ศ. 197 อ้วนสุดใช้ตราหยกแผ่นดินออกประกาศตนเป็นฮ่องเต้ และเตียวสิ้วแห่งอ้วนเซีย และเล่าเปียวแห่งเกงจิ๋วร่วมมือกันคิดบุกฮูโต๋ เมื่อโจโฉทราบก็ตัดสินใจยกกกองทัพไปตีเตียวสิ้วก่อนจนเตียวสิ้วยอมแพ้ และโจโฉก็นำเจ๋าซือ อาสะใภ้ของเตียวสิ้วมาเป็นภรรยาตน แล้วยกทัพไปตีเมืองลำหยงทีหลัง ซึ่งครั้งนี้ ลิโป้ เล่าปี่ และซุนเซ็ก ลืมความแค้นที่มีต่อกันลงชั่วคราว หันมาร่วมมือกันกำจัดอ้วนสุด อ้วนสุดเห็นว่าสู้ไม่ได้แน่ จึงหนีเตลิดไป
ค.ศ. 198 เตียวสิ้ว ซึ่งคิดแค้นในใจที่โจโฉพรากเจ๋าซือไป ซึ่งเป็นการหยามเกียรติอย่างรุนแรง จึงวางแผนฆ่าโจโฉ และเมื่อเริ่มทำตามแผน ทัพโจโฉพ่ายยับ บุตรชาย หลานชาย และภรรยาของโจโฉตาย แต่โจโฉรอดไปได้
ทางด้านลิโป้ เมื่อเล่าปี่เสร็จศึกกับอ้วนสุด ก็เริ่มโจมตีเล่าปี่ แต่ในเมืองชีจิ๋วของลิโป้นั้นมีไส้ศึก ลิโป้ถูกหลอกจนไส้ศึกยึดเมืองชีจิ๋วและเสียวพ่ายได้จากลิโป้ ลิโป้เมื่อรู้ว่าเสียเมืองไป 2 เมือง ก็สั่งทหารยึดเมืองแห้ฝือที่อยู่ใกล้ๆ เป็นที่ตั้งมั่นในการคิดการต่อไป แต่โจโฉก็ยกทัพตามมาล้อมแห้ฝือไว้ ทำให้ลิโป้คิดจะสวามิภักดิ์กับโจโฉ
แต่ตันก๋ง บริวารคนสำคัญของลิโป้ มีความแค้นกับโจโฉ จึงยุลิโป้ไม่ให้สวามิภักดิ์กับโจโฉ ลิโป้จึงไม่ยอมออกจากแห้ฝือ โจโฉจึงสั่งพังเขื่อนที่อยู่ใกล้ๆ แห้ฝือ ทำให้ระดับแม่น้ำในแห้ฝือสูงขึ้นท่วมบ้านเรือนจนเดือดร้อน ไม่นาน ลิโป้ก็แพ้ ถูกจับตัวส่งโจโฉ
ค.ศ. 199 ลิโป้ถูกประหารชีวิต และโจโฉ ก็นำเล่าปี่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่าเล่าปี่มีศักดิ์เป็นถึงพระเจ้าอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้เลยทีเดียว ทำให้ทราบว่าเล่าปี่มีเชื่อสายราชวงศ์ฮั่นจริงๆ
ด้านโจโฉ เริ่มออกอาการระแวงว่าจะมีลูกน้องของตนที่ไม่ภักดีต่อตน จึงคิดสร้างบารมีเพื่อข่มขวัญ แต่วิธีของโจโฉนั้น ไปข่มบารมีและสร้างความเจ็บช้ำให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้ จนถึงกับทรงกรีดนิ้วเขียนราชโองการเลือดให้ตั้งขบวนการล้างโจโฉ ซึ่งมีตังสิน จูฮก จูลัน ตันอิบ โงห้วน ม้าเท้ง และเล่าปี่
ขณะนั้น ทัพของอ้วนสุด ปราบกองซุนจ้านได้ และเตรียมนำตราหยกแผ่นดินไปให้อ้วนเสี้ยว แต่ก็ถูกเล่าปี่ยกทัพไปถล่มแหลก อ้วนสุดเจ็บใจในวาสนาจนกระอักเลือดตาย และเล่าปี่ก็เข้าปกครองเมืองชีจิ๋วไม่ยอมกลับฮูโต๋ ทางโจโฉก็กังวลเรื่องราชโองการเลือดกำจัดตนพอดี จึงตัดสัมพันธ์ทุกอย่างที่ตนเคยมีกับเล่าปี่
ไม่นาน โจโฉก็พบราชโองการเลือดของพระเจ้าเหี้ยนเต้ และสั่งประหารตังสิน จูฮก จูลัน ตันอิบ โงห้วน เสีย และบุกบ้านตังสินดึงตังกุยฮุย น้องสาวตังสิน ที่เป็นสนมคนโปรดของประเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ 5 เดือนมาประหารเสียอีก ซ้ำยังประกาศห้ามพระญาติและราชนิกูลเข้าวังก่อนได้รับอนุญาตจากโจโฉ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องโทษประหารชีวิต
อ้วนเสี้ยว ได้รับราชโองการจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ ขอร้องให้อ้วนเสี้ยวยกทัพไปปราบโจโฉ โดยมีเล่าปี่และซุนเซ็กร่วมมือ อ้วนเสี้ยวยกทัพมาเตรียมบุกฮูโต๋ของโจโฉ แต่บุตรคนเล็กจู่ๆ ก็ป่วย และด้วยเหตุผลนี้ อ้วนเสี้ยวขอ “พักรบ”
ค.ศ. 200 เล่าปี่วางแผนปล้มสะดมโจโฉ แต่โจโฉไหวตัวทัน จึงสามารถตั้งรับได้ ซ้ำยังจับกวนอูไปอยู่กับตนได้อีก แต่เมื่อกวนอูรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ก็ทิ้งจดหมายลาและควบม้าออกจากเมืองฮูโต๋กลับไปคืนดีกับเล่าปี่ และจูล่งที่เคยอยู่กับกองซุนจ้าน ก็มาพบเล่าปี่ และได้ขอร่วมมือกับเล่าปี่
ไม่นานต่อมา ซุนเซ็ก ถูกธนูพิษ ซึ่งการรักษาจะต้องระงับอารมณ์โกรธให้ได้ 100 วัน แต่ซุนเซ็กทำไม่ได้ ขาดใจตายขณะอายุ 25 ปี ทำให้ซุนกวน น้องชายซุนเซ็กในวัย 18 ปี ได้ครองเมืองแทน
ตอนนี้ ทั้งสามฝ่าย มีทัพที่เข้มแข็ง แต่เล่าปี่และซุนกวนรู้ดีว่า ร่วมงานกับอ้วนเสี้ยวแล้วเป็นเช่นไร (จากการตั้งกองทัพปราบตั๋งโต๊ะ) จึงไม่เอาด้วย ยกเลิกสัญญาพันธมิตร อ้วนเสี้ยวประชดชีวิตด้วยการเกณฑ์ทัพจากเมืองในปกครองของตนมา 7 แสนคน บุกฮูโต๋เอง ในขณะที่โจโฉมี 7 หมื่นคน ทำให้อ้วนเสี้ยวย่ามใจ คิดแต่จะใช้กำลังสู้ แต่โจโฉใช้สติปัญญาแอบเผาเสบียงตัดกำลัง และวิธีต่างๆ อีก จนชนะอ้วนเสี้ยวได้ อ้วนเสี้ยวถอยกลับกิจิ๋ว และเจ็บใจหนักจนล้มป่วยลง
ค.ศ. 201 เล่าปี่เตรียมตีฮูโต๋จากโจโฉ โจโฉจึงถอยทัพมาฮูโต๋ สู้กับเล่าปี่ แต่ครั้งนี้ เล่าปี่แพ้ แต่หนีไปได้ จึงหนีไปเกงจิ๋ว เพื่อชวนเจ้าเมืองเล่าเปียว ร่วมมือกันทำศึกต่อ
ค.ศ. 202 อ้วนเสี้ยวล้มเหลวในการบริหารทั้งกองทัพและบ้านเมือง ความกังวลหนักทำให้อาการป่วยหนักขึ้นจนเสียชีวิต อ้วนซงบุตรคนเล็ก ได้ขึ้นครองเมืองต่อจากอ้วนเสี้ยว แต่อ้วนถำ บุตรชายคนโตไม่ยอม จึงเกิดศึกพี่น้องขึ้น ทำให้โจโฉ ฉวยโอกาสบุกเข้าเมืองของอ้วนซงและอ้วนถำ
ค.ศ. 203 โจโฉชนะยึดเมืองกิจิ๋วของอ้วนซงได้
ค.ศ. 205 เล่าเปียวแต่งตั้งให้เล่าปี่ไปเป็นเจ้าเมืองซินเอี๋ย

[แก้] กำเนิดยุคสามก๊ก
ค.ศ. 207 เล่าเสี้ยน บุตรคนสำคัญของเล่าปี่ถือกำเนิดขึ้น แต่ในขณะนั้น โจโฉ ขยายเขตแดนไปทั่วภาคเหนือของจีนแล้ว เป็นที่ครั่นคร้าม แต่ในปลายปี เล่าปี่ก็ได้ ขงเบ้ง ในวัย 26 ปี เข้าร่วมทัพ ซึ่งขงเบ้งเป็นมันสมองสำคัญของทัพเล่าปี่ต่อไปในภาคหน้า เล่าปี่ปรนนิบัติขงเบ้งราวกับเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่เล่าปี่มีอายุถึง 46 ปี ทำให้น้องทั้งสองไม่ยอมรับขงเบ้ง
ค.ศ. 208 โจโฉส่งแฮหัวตุ้น แม่ทัพระดับพระกาฬมาตีซินเอี๋ยพร้อมทหาร 100,000 คน แต่ขงเบ้งออกอุบายมหัศจรรย์ตีแฮหัวตุ้นแพ้ในคืนเดียว ทั้งคู่จึงยอมรับและยกย่องในตัวขงเบ้ง
โจโฉเมื่อทราบเรื่องก็นำทัพ 500,000 คน บุกซินเอี๋ย เล่าจ๋องซึ่งครองเกงจิ๋วกลัวโจโฉจะตีเมืองตนไปด้วย จึงออกมายกเกงจิ๋วให้โจโฉ โจโฉนำทัพที่เมืองของเล่าจ๋องมารวมกับตน ทำให้ทัพโจโฉเพิ่มเป็น 800,000 คน ซึ่งการรบในครั้งต่อไปนี้ จะเป็นการรบที่นำไปสู่ ศึกผาแดง อันยาวนาน และการเกิดศึกผาแดง ถือเป็นจุดแตกหักที่นำแผ่นดินจีนสู่การเป็นสามก๊กโดยสมบูรณ์
เล่าปี่จึงรีบอพยพราษฎรออกจากซินเอี๋ย แล้วขงเบ้งก็ใช้มันสมองวางกับดักตัดกำลังทัพโจโฉเพื่อให้เล่าปี่และราษฎรหนีไปให้ไกล ทางด้านโจโฉเมื่อเสียทีก็รีบนำทัพตามเล่าปี่ไป แต่ด้วยความที่มีราษฎรมาก ทำให้คาราวานของเล่าปี่เดินทางได้ช้า ผิดกับทัพทหารที่ฝึกมาอย่างดีของโจโฉ ที่เดินทางได้รวดเร็วกระชั้นชิด
เล่าปี่ให้กวนอูไปขอความช่วยเหลือจากเมืองกังแฮ แต่กวนอูไปไม่ส่งข่าว เล่าปี่เป็นห่วงจึงให้ขงเบ้งออกไปสืบ แต่ในระหว่างที่ขงเบ้งไม่อยู่ โจโฉก็ตามมาทันเล่าปี่ นำทัพสังหารราษฎรของเล่าปี่ไปกว่าครึ่ง ก่อนที่เล่าปี่และราษฎรที่รอดจะหนีไปได้
ทัพโจโฉยังไม่ลดละ ตามเล่าปี่ต่อไปอีก จนเมื่อเล่าปี่กำลังเข้าตาจนอีกครั้ง กวนอูและขงเบ้ง กลับมาพร้อมทัพใหญ่ช่วยเล่าปี่ไว้ได้ทันเวลา และพาเล่าปี่และราษฎรไปพักที่กังแฮ
หลังจากนั้น ขงเบ้งก็วางกับดักสารพัดที่แต่ละครั้งเล่นงานโจโฉเสียยับเยิน ทั้งการยุยงให้ซุนกวนหมางใจไปรบกับโจโฉบ้าง การวางกับดักโดยใช้ทัพฝ่ายตนเองบ้าง จนกระทั่งทัพ 800,000 คนของโจโฉถูกเล่นงานจนเหลือ 27 คน
ค.ศ. 209 ภรรยาเล่าปี่เสียชีวิต ซุนกวน จึงคิดเอาน้องสาวของตนล่อเล่าปี่มาสังหาร โดยจะอ้างว่าขอเชิญเล่าปี่มาแต่งงานกับน้องสาวของตนที่แคว้นของซุนกวน แต่ขงเบ้ง ก็ออกอุบายตลบหลังจนชนะใจน้องสาวของซุนกวนได้ และเล่าปี่ได้น้องสาวซุนกวนมาเป็นภรรยาจริงๆ และไม่เกิดอันตรายใดๆ ต่อเล่าปี่เลย
ค.ศ. 210 เล่าปี่เดินทางกลับมาครองเมืองเกงจิ๋ว และในปีนั้น ขงเบ้งก็วางอุบายต่างๆ เล่นงาน จิวยี่ ผู้เป็นมันสมองของฝ่ายง่อก๊กของซุนกวน จนวันหนึ่ง จิวยี่ถูกยิงโดยธนูพิษ ที่การจะรักษาจะต้องระงับอารมณ์โกรธให้ได้ 100 วัน แต่จิวยี่ก็ถูกอุบายของขงเบ้งยั่วความโกรธอยู่ตลอด จนจิวยี่ทนไม่ไหว เกิดความโกรธขึ้นจนพิษกำเริบขาดใจตายไปด้วยวัย 35 ปี
ค.ศ. 211 บังทอง เพื่อนเก่าของขงเบ้ง ที่มีสติปัญญาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนัก ได้พบกับขงเบ้งในงานศพจิวยี่ และไม่นาน ขงเบ้งก็เกลี้ยกล่อมให้บังทอง มาทำงานเป็นมันสมองให้เล่าปี่ร่วมกับตนได้สำเร็จ
ต่อมา ซุนกวนคิดจะตียึดเมืองเกงจิ๋วของ เล่าปี่ จึงให้ทหารไปนำตัวน้องสาวของตนซึ่งเป็นภรรยาเล่าปี่มา โดยอ้างว่านาง ง่อก๊กไท่ มารดาของนางป่วยหนัก ซุนกวนได้น้องสาวกลับมา จึงเริ่มเตรียมทัพโจมตีเกงจิ๋ว
ค.ศ. 212 ม้าเท้ง แห่งเมืองเสเหลียง หนึ่งในผู้ต่อต้าน โจโฉ ถูกโจโฉลวงมาสังหารจนจบชีวิตลงด้วยวัย 56 ปี แต่เมื่อ ม้าเฉียว บุตรชายม้าเท้งทราบเรื่อง ก็ยกทัพมาโจมตีโจโฉจนแตกพ่ายไปหลายครั้ง แต่เมื่อโจโฉใช้แผนยุแหย่ให้ทัพม้าเฉียวแตกคอกันกลับได้ผล ม้าเฉียวพลาดท่าถูกโจโฉตีแตกพ่ายไป จนต้องหนีไปเข้ากับเตียวฬ่อ แห่งเมืองฮันต๋ง
ค.ศ. 213 โจโฉ ยกตัวเองจากตำแหน่งมหาอุปราช เป็นตำแหน่งวุยก๋ง (Duke) ซึ่งสูงแทบทัดเทียมฮ่องเต้ และยกทัพมารบกับ ซุนกวน ทำให้ซุนกวนต้องใช้ทัพที่เตรียมมาเพื่อตีเกงจิ๋ว มาสู้กับโจโฉแทน แต่เมื่อถึงฤดูฝน ก็มีน้ำท่วม ทั้งสองฝ่ายก็เลิกรากันไปเอง
ปีเดียวกัน ง่อก๊ก (แคว้นหวู)ของซุนกวนออกอุบายยุแหย่ให้เล่าเจี้ยงและเตียวฬ่อที่อยู่ฝ่ายเล่าปี่นั้นคลางแคลงใจต่อเล่าปี่ จนเล่าเจี้ยงผู้ระแวง ประกาศตนเป็นศัตรูกับเล่าปี่ เล่าปี่โกรธจัดยกทัพเตรียมไปโจมตีเสฉวนที่เล่าเจี้ยงครอบครองอยู่ โดยเมืองเกงจิ๋วมีขงเบ้งดูแล จนยึดปราการสำคัญของเสฉวนได้แทบทั้งหมด และเดินทางต่อเพื่อไปเรื่อยๆ
ค.ศ. 214 บังทองถูกลอบสังหารระหว่างเดินทัพ จบชีวิตลงด้วยวัย 36 ปี ทำให้กองทัพเล่าปี่ขาดสมองสำคัญไป ดังนั้นเมื่อ ขงเบ้ง ทราบ จึงฝาก กวนอู ดูแลเกงจิ๋วแทนตน โดยให้ จูล่ง และ เตียวหุย ยกทัพไปตามคำของตน เมื่อทัพขงเบ้งมาเสริมกับเล่าปี่ กองทัพเล่าปี่ก็มีอานุภาพสูงขึ้น และเมื่อขงเบ้งเกลี้ยกล่อมจน ม้าเฉียว เปลี่ยนมาอยู่ฝ่ายเล่าปี่ได้ ก็ยิ่งเอื้ออำนวยให้เล่าปี่เข้าไปอีก
ค.ศ. 215 เล่าปี่ชนะเล่าเจี้ยงและขึ้นเป็นเจ้าเมืองเสฉวน ต่อมา ทางด้านซุนกวนก็เตรียมทัพไปยึดเกงจิ๋วจากเล่าปี่อีกครั้ง แต่ยังไม่ทันไร โจโฉก็เตรียมยกทัพมาโจมตีซุนกวนอีกครั้ง ทัพที่ซุนกวนเตรียมไว้สู้เล่าปี่ ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้สู้กับทัพโจโฉอีกครั้ง
ค.ศ. 216 โจโฉทำท่าต้องการจะยกตัวเองจากตำแหน่งวุยก๋ง เป็นเจ้าวุยอ๋อง (Prince / King) ซึ่งถือได้ว่าเป็นศักดิ์ที่อยู่สูงมาก จนพระเจ้าเหี้ยนเต้เริ่มกังวลในตำแหน่งตน จึงเขียนสาส์นไปให้พระมเหสีช่วยกันคิดแผนกำจัดโจโฉที แต่เมื่อโจโจทราบเรื่อง ก็จับพระมเหสีและคนในครอบครัวประหารจนหมด แล้วยกบุตรสาวของตนเป็นมเหสีของพระเจ้าเหี้ยนเต้แทน ทำให้โจโฉกลายเป็นพ่อตาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ไปในตัว
เมื่อโจโฉมีอำนาจล้นฟ้า ก็จัดการคนที่ไม่เห็นด้วยกับตนจนหมด และเตรียมทัพเพื่อบุกยึดเสฉวน แต่ขงเบ้ง ก็ออกอุบายให้ซุนกวนหลงเชื่อ จนเผลอยกทัพมาตีเมืองของโจโฉ ทำให้โจโฉโกรธ เปลี่ยนเป้าจากเมืองเสฉวนเป็นรบกับซุนกวน จนทั้งสองฝ่ายบอบช้ำหนักจนเลิกราศึกกันไปเอง หลังเสร็จศึก โจโฉก็ได้รับตำแหน่งวุยอ๋อง
ค.ศ. 217 เล่าปี่ยกทัพมาตีเมืองฮันต๋งของโจโฉ โจโฉใช้ขุนศึกหลายคน แต่สติปัญญาของขงเบ้ง ก็เล่นงานโจโฉจนแตกพ่ายไม่เป็นท่าไปหลายครั้งเช่นกัน
ค.ศ. 219 โจโฉแพ้ ยกทัพกลับ ทำให้เล่าปี่ขึ้นครองฮันต๋ง ซึ่งภายหลัง คนรอบข้างต่างพร้อมใจสถาปนาเล่าปี่ เป็นอ๋องแห่งจ๊กก๊ก (แคว้นฉู่) เหมือนโจโฉ โจโฉโกรธจัด จึงยกทัพมาตีเสฉวน และส่งสาส์นไปบอกให้ซุนกวนยกทัพมาตีเกงจิ๋วพร้อมๆ กัน เพื่อให้เล่าปี่ถูกโจมตีพร้อมกันสองด้าน แล้วโอกาสแพ้ของเล่าปี่จะเพิ่มขึ้น
ขงเบ้ง แม้จะวางอุบายต่างๆ ไว้ แต่ด้วยความที่ครั้งนี้ ซุนกวนได้ที่ปรึกษาที่ฉลาดพอใช้มาร่วมงานหลายคน ประกอบกับขุนศึกที่สำคัญของเล่าปี่ อย่าง กวนอู เตียวหุย ต่างเริ่มชรา สังขารเริ่มไม่อำนวย จนผลสุดท้ายต้องเสียเกงจิ๋วไป และกวนอูถูกซุนกวนจับตัว และในปีนั้นเอง กวนอูก็ถูกซุนกวนสั่งประหาร เล่าปี่เสียใจมาก เตรียมทัพเพื่อรอจังหวะเหมาะไปล้างแค้นซุนกวน

[แก้] เหตุการณ์ในระยะหลังและสิ้นยุคสามก๊ก
ค.ศ. 220 โจโฉป่วยหนัก และเริ่มเกิดอาการประสาทหลอน เห็นวิญญาณของคนที่ถูกตนฆ่ามาหลอกหลอน จนเสียชีวิตไปในวัย 65 ปี หลังจากนั้น โจผี รับตำแหน่งวุยอ๋องต่อจากพ่อ แต่โจผีเหิมเกริม ขับไล่ พระเจ้าเหี้ยนเต้ ออกจากบัลลังก์กษัตริย์ และโจผีขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งวุยก๊กเสียเอง ทำให้เหล่าประชาชนที่ภักดีต่อฮั่นก็เริ่มหว่านล้อมเล่าปี่ให้รับตำแหน่งฮ่องเต้แห่งจ๊กก๊ก
ค.ศ. 221 เล่าปี่ยอมรับตำแหน่งพระเจ้าเล่าปี่แห่งจ๊กก๊ก และเตรียมทัพไปล้างแค้นซุนกวนที่เป็นคนประหารกวนอู แต่ทว่า ความดุดันมุทะลุของเตียวหุย ให้คำสั่งกับแม่ทัพในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้แม่ทัพคิดทรยศสังหารเตียวหุยไป และนำศีรษะเตียวหุยไปให้ซุนกวน ทำให้เล่าปี่เสียใจและโกรธแค้นมาก นำทัพ 70,000 คนมุ่งไปหมายทำลายแคว้นของซุนกวน โดยไม่ฟังคำค้านของขงเบ้งเลย
ค.ศ. 222 ซุนกวนได้รับตำแหน่งอ๋องแคว้นหวู (ง่อก๊ก) เล่าปี่ทำสงครามกับซุนกวนแต่แพ้ยับเยินกลับเพราะมาไม่ฟังคำขงเบ้ง ทำให้ในใจรู้สึกอัปยศนัก แก้แค้นให้น้องไม่ได้ แถมยังพาทหารมาตายเป็นหมื่น ทำให้เล่าปี่ล้มป่วยลง
ค.ศ. 223 เล่าปี่เสียชีวิตลงด้วยวัย 62 ปี เล่าเสี้ยน ขึ้นครองจ๊กก๊กแทนเล่าปี่ และขงเบ้ง ไปผูกมิตรกับซุนกวน เพื่อผนึกกำลังสองแคว้นต้านโจผี มันสมองของขงเบ้ง ช่วยให้แผ่นดินจ๊กก๊กของเล่าเสี้ยนและแผ่นดินง่อก๊กของซุนกวนเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา
ค.ศ. 226 โจผีเสียชีวิตลงด้วยวัย 39 ปี และ โจยอย ครองราชย์แทน
ค.ศ. 229 ซุนกวน ได้เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก ทำให้แผ่นดินจีนมีฮ่องเต้ถึง 3 พระองค์ ได้แก่ เล่าเสี้ยนแห่งจ๊กก๊ก, โจยอยแห่งวุยก๊ก และซุนกวนแห่งง่อก๊ก
ทางด้านขงเบ้ง ก็ยังปฏิบัติหน้าที่รบกับวุยก๊ก ที่ตอนนี้มีโจยอยครองราชย์อยู่อย่างไม่หยุดหย่อน แต่ในขณะนั้น ขงเบ้งเริ่มมีสุขภาพที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ
ค.ศ. 234 ขงเบ้งเสียชีวิตในค่ายกองทัพด้วยวัย 53 ปี แต่ก่อนเสียชีวิต ก็ได้สั่งเสียเป็นกลลวงที่คอยลวงบ่อนทำลายทัพวุยก๊กได้นานหลายปี แต่ทว่า การตายของขงเบ้ง ทำให้ไม่มีใครคอยสอนเล่าเสี้ยน เล่าเสี้ยนจึงกลายเป็นคนที่มิได้ครองราชย์ตามประเพณี เหลวแหลก เสเพล ทำให้จ๊กก๊กเริ่มอ่อนแอลงจากภายใน
ค.ศ. 239 โจยอยเสียชีวิตลงด้วยวัย 34 ปี โดย โจฮอง ครองราชย์แทน
ค.ศ. 252 ซุนกวน เสียชีวิตด้วยวัย 70 ปี โดย ซุนเหลียง ขึ้นครองราชย์แทน
ค.ศ. 254 โจฮอง ถูกยึดอำนาจจากขุนพล สุมาสู และ สุมาเจียว ซึ่งเป็นลูกชายของสุมาอี้ ที่ปรึกษาคนสำคัญของโจโฉ โดยให้ โจมอ ครองราชย์แทน
ค.ศ. 260 โจมอ เสียชีวิตในวัย 18 ปี โดยมี โจฮวน ครองราชย์ต่อ และ ซุนเหลียง เสียชีวิตในวัย 17 ปี โดย ซุนฮิว ครองราชย์ต่อ
ค.ศ. 262 สุมาเจียวเห็นความอ่อนแอของเล่าเสี้ยน จึงเริ่มจัดเตรียมทัพมาโจมตีเสฉวนของเล่าเสี้ยน เล่าเสี้ยนก็ไม่ได้เตรียมการรบอะไรเลย
ค.ศ. 263 ข้าศึกบุกถึงเสฉวน เล่าเสี้ยนเห็นว่าจวนตัว จึงออกมาคำนับยกจ๊กก๊กให้สุมาเจียวเสีย
ค.ศ. 264 ซุนฮิว เสียชีวิตด้วยวัย 29 ปี โดย ซุนโฮ ครองราชย์ต่อ แต่ประพฤติตนไม่อยู่ตามครรลอง เชื่อคำยุแยง หลงสุรานารี ไม่บริหารบ้านเมือง ไม่ต่างจากเล่าเสี้ยน แต่ในปีนั้น สุมาเจียวเสียชีวิตด้วยวัย 53 ปี
ค.ศ. 265 โจฮวน ถูก สุมาเอี๋ยน บุตรชายสุมาเจียวยึดอำนาจ และสุมาเอี๋ยนตั้งตัวเป็นฮ่องเต้
ค.ศ. 280 สุมาเอี๋ยนยกทัพมาโจมตีง่อก๊กของซุนโฮ ซุนโฮซึ่งไม่ได้เตรียมการรบอะไรเลย ก็ออกมาคำนับยกเมืองให้สุมาเอี๋ยน
สรุปว่า วุยก๊กที่โจโฉตั้งขึ้นเป็นฝ่ายมีชัย แต่โจโฉและตระกูลโจพ่ายแพ้ เพราะถูกสุมาเอี๋ยนยึดอำนาจเสียก่อนที่วุยก๊กจะมีชัย จากนั้น แผ่นดินสามก๊กก็รวมเป็นหนึ่งและเข้าสู่ความสงบ

[แก้] ตัวละครหลัก
รายชื่อตัวละครในประเทศไทย แปลมาจากงานเขียนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งแปลตามสำเนียงฮกเกี้ยน ไม่ใช่จีนกลาง
เล่าปี่ (หลิวเป้ย) - Liu Bei - 劉備
กวนอู (กวนหวี่) - Guan Yu - 關羽
เตียวหุย (จางเฟย) - Zhang Fei - 張飛
จูล่ง จูล่งคือฉายา ส่วนชื่อจริงชื่อเตียวหยุน (เจ้าอหวิน) - Zhao yun - 趙雲
โจโฉ (เฉาเชา) - Cao Cao - 曹操
ขงเบ้ง (จูเก่อเลี่ยง ฉายา ข่งหมิง) - Zhuge Liang (Kong Ming) - 諸葛亮 (孔明)
ซุนกวน (ซุนฉวาน) - Sun Quan - 孫權
สุมาอี้ (ซือหม่าอี้) - Sima Yi - 司馬懿
อ้วนเสี้ยว (หยวนเส้า) - Yuan Shao - 袁紹
อ้วนสุด (หยวนฉู่) - Yuan Shu - 袁術
ลิโป้ (หยูปู้) - Lü Bu - 呂布
รายชื่อทั้งหมดดูได้ที่ รายชื่อบุคคลในยุคสามก๊ก

[แก้] ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์

ผาแดง หรือ ชีปี้(chi bi) สถานที่เกิดยุทธนาวีระหว่างวุยก๊กกับง่อก๊ก
นิยายสามก๊กแต่งขึ้นสมัยราชวงศ์หยวน โดยนำเอาเหตุการณ์จากยุคสามก๊กมาเป็นพื้นในการดำเนินเรื่อง แล้วแต่งเติมบางฉากบางตอนเข้าไปตามจินตนาการของผู้แต่งเพื่อสื่อถึงความคิดของตนต่อการเมืองการปกครองในยุคนั้น นิยายสามก๊กจึงมีความผิดเพี้ยนกับประวัติศาสตร์จริงหลายจุด จุดที่เป็นการแต่งเติม นักประวัติศาสตร์พอคาดเดาได้บางจุด เช่น
จุดแรก จุดเริ่มต้นของเรื่อง ฉากที่ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ได้กรีดเลือดสาบานเป็นพี่น้องกันนั้น สมัยนั้นยังไม่มีประเพณีการสาบานเป็นพี่น้องกันแบบนี้ มีเพียงการดื่มเลือดสาบานของเหล่าบ่าวรับใช้ว่าจะจงรักภักดีต่อนายเท่านั้น การดื่มเลือดสาบานเป็นพี่น้องนั้นมาจากลัทธิหมิงเจี้ยว ที่เพิ่งเกิดขึ้นและโด่งดังมากในช่วงชีวิตของหลอกว้านจง และหลอกว้านจงได้นำลัทธิหมิงเจี้ยวนี้เอง มาใส่ลงวรรณกรรมสามก๊กของตน และในซานกว๋อจื้อของเฉินโซ่วก็ไม่ได้กล่าวว่ามีการดื่มเลือดสาบานระหว่างเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยแต่อย่างใด
อีกจุดหนึ่งที่เด่นๆ คือ จุดที่กล่าวว่า ขงเบ้งตอนจนตรอกถูกสุมาอี้ยกทัพมากว่าแสนคนจะมายึดเมืองเสเสีย ขณะที่ตนมีเพียงทหารที่ไม่ชำนาญศึกเพียงห้าพันนาย ขงเบ้งจึงเปิดประตูเมืองทุกบาน ให้ทหารปลอมเป็นชาวเมืองและทำกิริยาเหมือนเป็นชาวบ้านกำลังทำกิจวัตรตามปกติ ส่วนขงเบ้งก็ไปนั่งดีดพิณบนกำแพงเมืองอย่างสบายใจ เมื่อสุมาอี้มาถึงเห็นว่าชาวเมืองและขงเบ้งไม่มีอาการตกใจหรือลนลาน ขงเบ้งคงเตรียมการรับมือไว้อย่างดีแล้วกระมัง เราคงสู้ขงเบ้งไม่ได้ สุมาอี้จึงถอยทัพไปเอง จุดที่กล่าวมานี้ไม่มีในซานกว๋อจื้อ แต่หลอกว้านจง นำประวัติศาสตร์จากยุคจิ๋นซีฮ่องเต้มา โดยมีเรื่องราวว่า ในสมัยนั้นจีนก็แตกเป็นแคว้นๆ ดังเช่นยุคสามก๊ก คราวหนึ่ง รัฐฉู่ยกทัพมาจะรบกับรัฐเจิ้ง รัฐเจิ้งอ่อนแอกว่ารัฐฉู่อย่างเห็นได้ชัด แต่แม่ทัพใหญ่แห่งรัฐเจิ้งได้หลอกชาวเมืองว่ารัฐฉู่มาค้าขายไม่ใช่มารบ ชาวเมืองจึงเชื่อสนิทยกข้าวของมาค้าขายนอกกำแพงรัฐอย่างเอิกเกริก เมื่อทัพฉู่มาถึงก็ตกใจว่าทำไมรัฐเจิ้งไม่ตกใจลนลานกลับทำทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่จะเป็นกลลวงหรือเปล่า บุกเข้าไปเราคงตายหมดแน่ ทัพฉู่จึงถอยทัพ
หลอกว้านจงจึงนำเรื่องราวนี้มาแต่งเพิ่มลงในสามก๊กฉบับของตน และหลอกว้านจงยังมีการแต่งเพิ่ม หรือดัดแปลงเนื้อเรื่องจากซานกว๋อจื้ออีกหลายจุด
อย่างไรก็ดีมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์อันเกิดขึ้นจริง เช่น ยุทธนาวีที่ผาแดง (เซ็กเพ็ก หรือ ชีปี้) ซึ่งเป็นการรบครั้งสำคัญระหว่างวุยก๊กกับง่อก๊ก และส่งผลให้แผ่นดินแตกออกเป็นสามก๊กอย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันที่ผาแดงมีอักษรจารึกอยู่บนหน้าผาเป็นสัญลักษณ์

[แก้] ความนิยม
นิยายสามก๊กของหลอกว้านจง ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างยิ่งในยุคของราชวงศ์หมิง ที่ครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หยวน โดยมีการนำไปเล่นเป็นงิ้ว อันเป็นการแสดงที่เข้าถึงผู้คนทั่วทุกหัวระแหง และมีการแต่งตั้งให้ กวนอู เป็น "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์" แทนที่งักฮุย หรือเยี่ยเฟย
วลีที่โด่งดังจากเรื่องสามก๊ก ตัวอย่างเช่น
"บุตรและภรรยาเปรียบดังเสื้อผ้า พี่น้องเปรียบเหมือนแขนขา" (妻子如衣服, 兄弟如手足)
"พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา" (一說曹操, 曹操就到)

[แก้] การแปลเป็นภาษาไทย
ฉบับภาษาไทยมีหลายสำนวนแปล ที่โด่งดังคือฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และยาขอบ (สามก๊กฉบับวณิพก)
สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลขึ้นในคราวก่อตั้งกรุงเทพมหานคร รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อฟื้นฟูศิลปะวิทยาในด้านต่างๆ ให้กลับคืนมาหลังจากการเสียกรุง

[แก้] ดูเพิ่ม
สี่สุดยอดวรรณกรรมจีน

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
สามก๊กฉบับคนขายชาติ โดย เรืองวิทยาคม
ตำนานเรื่องสามก๊ก พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ไทยสามก๊ก.คอม
เว็บไซต์สามก๊ก (www.feelthailand.com)
[แสดง]
สี่สุดยอดวรรณกรรมจีน
สามก๊ก · ไซอิ๋ว · ซ้องกั๋ง · ความฝันในหอแดง
[แสดง]
สามก๊ก ของ หลอกว้านจง
ข้อมูล/ประวัติ
สามก๊ก • ยุคสามก๊กจดหมายเหตุสามก๊ก
ภาพยนตร์
สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกรสามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ
ละคร
ละคร
การ์ตูน
การ์ตูนญี่ปุ่นการ์ตูนฮ่องกงการ์ตูนไทยการ์ตูนเกาหลี
ก๊ก
วุยก๊กจ๊กก๊กง่อก๊ก
ศึกสำคัญ
ศึกสะพานศิลาศึกกัวต๋อศึกทุ่งพกบ๋องศึกสะพานเตียงปันเกี้ยวศึกผาแดงศึกหับป๋าศึกเขาเตงกุนสันศึกห้วนเสียศึกอิเหลง
ม้าสำคัญ
เซ็กเธาว์เต็กเลา
ข้อมูลเพิ่มเติม
สิบขันทีเนินหงส์ร่วงห้าทหารเสือ
[แสดง]
บุคคลสำคัญในยุคสามก๊ก

ไม่มีความคิดเห็น: